MOOCs are courses that are available online, open and free, for massive/wide audiences; it is also important that they are collaborative. ท่านใดที่สนใจสามารถลองศึกษาและเรียนได้จากเว็บไซต์ ดังนี้ |
- การรวบรวมความรู้ (Aggregation) การเข้าถึงและรวบรวมแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่ออ่าน ดูและเล่นอย่างสม่ำเสมอ ตั้งใจ ใส่ใจ
- การสร้างความสัมพันธ์ (Relation) หลังจากการอ่าน ดูหรือฟัง บางเนื้อหาผู้เรียนอาจสะท้อนและสร้างสัมพันธ์ว่า อะไรที่ผู้เรียนรู้แล้ว อะไรคือประสบการณ์เดิม โดยอาจจะใช้หลักการของแผนผังมโนทัศน์ หรือการสรุปประเด็น
- การสร้างสรรค์ (Creation) หลังกระบวนการสะท้อนและสร้างความรู้สึก ผู้เรียนอาจสร้างสรรค์บางสิ่งเป็นของตนเอง (ตัวอย่างเช่น บล็อก วีดีทัศน์ การนำเสนอ เป็นต้น)
- การแบ่งปัน (Sharing) ผู้เรียนอาจแบ่งปันผลงานกับคนอื่นๆ บนเครือข่าย
โดย ภาสกร ใหลสกุล (จากต้นฉบับนิตยสาร DMA)
คำว่าอีเลิร์นนิงนั้นเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงการการศึกษา ซึ่งปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงหลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ ทางออนไลน์และอุปกรณ์โมบายต่างๆ ได้โดยสะดวก เทคโนโลยีไอซีทีก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้งก็ทำให้เทคโนโลยีด้านอีเลิร์นนิงมีการพัฒนารูปแบบและช่องทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่กำลังถูกกล่าวขวัญถึงในปัจจุบันกันอย่างมากก็คือ “MOOC” (อ่านว่า “มู้ก”) ซึ่งฟังดูแปลกๆ ตลกๆ ดีใช่ไหมครับ เดี๋ยวเราจะได้รู้กันว่า MOOC นั้นเป็น “มุก” ใหม่ในวงการอีเลิร์นนิงของโลกจริงหรือไม่ และมันมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
MOOC คืออะไร ?
MOOC เป็นคำที่มาจากตัวอักษรตัวแรกของคำเต็มว่า Massive Open Online Course ซึ่งหมายถึงรูปแบบการนำเสนอการเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ทางออนไลน์ ที่เข้าถึงผู้เรียนจำนวนมากๆ ได้ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ โดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการฟรี ซึ่ง MOOC นี้เป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการการศึกษาของโลก (ฝรั่งคิดตามเคย) โดยการนำเทคโนโลยีและวิธีการเรียนการสอนสมัยใหม่มาผสมผสานกัน ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งตอนนี้มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว สิ่งที่ MOOC มีนอกเหนือจากสื่อประกอบการเรียนแบบปรกติ เช่น วีดิโอ หนังสือ และแบบฝึกหัดแล้ว ยังมีฟอรัม (Forum) ให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนสนทนาระหว่างนักเรียนด้วยกัน หรือกับผู้สอน และผู้ช่วยสอนได้อีกด้วย กระแสของ MOOC พึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และเริ่มได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในปี 2012 เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งให้ความสำคัญและมาร่วมเผยแพร่บทเรียนผ่านทาง MOOC กันเป็นทิวแถว จนกระทั่ง New York Times ยังกล่าวว่า ปี 2012 เป็น “Year of the MOOC” เลยทีเดียว
แล้วมันต่างกับอีเลิร์นนิงเดิมอย่างไร?
ระบบอีเลิร์นนิงในความหมายที่เข้าใจกันเดิมนั้นมันก็มีคุณสมบัติเป็น MOOC อยู่แล้วแต่ที่ต่างกันคือ ส่วนใหญ่มักจะใช้เรียนกับนักเรียนในกลุ่มจำกัด เช่น ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียค่าเล่าเรียนรวมไปแล้ว แต่ก็มีสถาบันบางแห่งให้คนเสียเงินเรียนผ่านอีเลิร์นนิง และเมื่อจบแล้วก็ได้ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรจริงๆ แต่ในความหมายของ MOOC นั้นการเรียนการสอนจะกินวงกว้างกว่ามาก (จนถึงระดับทั่วโลกเลย) ซึ่งความจริงมันก็มีมานานแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดสดหรือแห้งแบบวิดีโอ โดยเฉพาะระบบการสอนของมหาวิทยาลัยเปิดต่างๆ ซึ่งเริ่มมาจากฝั่งอังกฤษและอเมริกา แล้วก็มีในประเทศไทยในพวกมหาวิทยาลัยเปิดอย่าง มสธ.และรามคำแหง รวมทั้งพวกโรงเรียนติวเตอร์ต่างๆ ที่ติวเตอร์ดังๆ ที่ไม่สามารถแบ่งภาคตัวเองไปสอนตามสาขาต่างจังหวัดได้ทั้งหมด แต่การเรียนกับครูอาจารย์เก่งๆ ของสถาบันดังๆ ทั้งหลาย (โดยเฉพาะระดับโลก) มีปัญหาใหญ่ที่เป็นอุปสรรคกับคนธรรมดาที่ไม่ได้มีเงินมากมายที่จะเสียเงินเรียนกับสถาบันหรืออาจารย์เหล่านี้ได้ในวิชาที่ตัวเองสนใจ เพราะค่าเรียนนั้นแพงมาก ถึงมากที่สุดและมีอัตราแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2002 มหาวิทยาลัยดังๆ อย่างเช่น MIT และ Yale เป็นผู้ริเริ่มสร้างความรับชอบต่อสังคมในสิ่งตัวเองทำเป็นอยู่แล้ว ก็คือเผยแพร่สื่อการเรียนการสอนฟรีทางออนไลน์ที่เรียกว่า OCW (Open CourseWare) ที่เรียกว่า MIT Open Courseware และ Yale Open CourseWare และมีการเผยแพร่การสอนฟรีทาง YouTube แต่มันก็เป็นแค่การเรียนและดูข้างเดียว ไม่สามารถตอบโต้ได้ ต่อมาจึงผู้คิดพัฒนาเทคโนยีและรูปแบบการสอนแบบ MOOC โดยผสมผสานเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมและเพิ่มเข้าไปใหม่ เพื่อเป็นการตอบโจทย์ที่ระบบออนไลน์เลิร์นนิงหรืออีเลิร์นนิงเดิมๆ ยังทำไม่ได้ และในปี 2012 นี่เองได้มีการถือกำเนิดผู้ให้บริการ MOOC ชื่อดังจากหลายมหาวิทยาลัยอย่างเช่น Udacity ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัย Stanford, edX ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัย Harvard และ MIT, Coursera ก่อตั้งโดย อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford และก่อนหน้านี้ก็มีเว็บไซต์ KhanAcademy.com ซึ่งเน้นการเรียนเรียนตั้งแต่ระดับประถมมัธยมเป็นหลัก ได้สร้างแนวทางของ MOOC ให้เป็นที่รู้จักมาก่อนแล้ว ส่วน MOOC ในยุคปัจจุบันมักจะหมายถึงการสอนระบบอุดมศึกษา (Higher Education) เป็นหลัก
หัวใจของ MOOC
จากชื่อเต็มๆ ของ MOOC คือ Massive Open Online Course ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนจำนวนมากสำหรับผู้เรียนจำนวนมากๆ ทางออนไลน์ (ซึ่งในที่นี้ก็คืออินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ก็ตาม) แต่มันก็มีคำถามตามมาหลายประเด็นว่า ขนาดไหนถึงเรียกว่า “จำนวนมาก (Massive)” จะเป็น 100, 1,000, 10,000 หรือ 100,000 คนขึ้นไป? คำว่า “เปิดกว้าง (Open)” หมายถึงไม่เสียเงินเลยหรือเปล่า? และใครบ้างที่จะมีสิทธิเข้าถึงบทเรียนต่างๆ นี้บ้าง? แล้ว “หลักสูตร ออนไลน์ (Online Course)” ก็ต้องเรียนสดตามเวลาที่กำหนดอย่างเดียวหรือเปล่า? โต้ตอบได้กันหรือเปล่า? การวัดผลล่ะทำไง? แล้วจะมีใบรับรองหรือประกาศนียบัตรให้หรือเปล่าเมื่อเรียนจบแต่ละวิชา หรือหลักสูตร? สุดท้ายที่ผู้เขียนตั้งคำถามเองก็คือ มันจะขัดกับธุรกิจการสอนแบบเดิมหรือเปล่า? แล้วรูปแบบธุรกิจ ที่จะเลี้ยงตัวให้อยู่รอดได้อย่างไร? แต่ก่อนจะหาคำตอบกับคำถามเหล่านี้ เราต้องเข้าใจถึงแนวคิดที่เป็นแก่นของ MOOC ซึ่งผมขอเรียกว่า “หัวใจของ MOOC” ซึ่งมีผู้รู้ได้กล่าวว่าหัวใจสำคัญของ MOOC มีดังนี้
- การเข้าถึง (Accessibility) : การเรียนผ่าน MOOC นั้นส่วนใหญ่จะไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้จัดทำ (มหาวิทยาลัยต่างๆ)และผู้ให้ทุนสนับสนุนเริ่มต้นด้วยแนวคิด “เราเป็นคนใจดี” (CSR) ไม่มีค่าใช้จ่าย (หรืออาจมีค่าใช้จ่ายถ้าแลกกับปริญญาบัตรจริง) ทำให้ใครก็ตามที่มีอินเตอร์เน็ตก็สามารถเรียนได้ แต่ก็ต้องฟังภาษาที่เค้าสอนรู้เรื่องด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษ
- การปฏิสัมพันธ์ (Interaction) : การเรียนผ่าน MOOC นั้นผู้เรียนไม่ได้เพียงนั่งฟังอย่างเดียว ระหว่างดูวิดีโอไปจะมีคำถามแทรกอยู่ตลอด ทำให้ผู้เรียนต้องตั้งใจเรียนตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถตั้งคำถามโดยให้เพื่อนนักเรียนที่มีอยู่ทั่วโลกมาช่วยกันมาตอบได้ และสามารถปรึกษากับผู้ส่วนหรือผู้ช่วยสอนได้ตลอด ซึ่งสิ่งนี้เป็นการสร้างบรรยายการเรียนแบบ one-on-one (มีคนช่วยสอนแบบตัวต่อตัว) ให้เกิดเป็นจริงในโลกออนไลน์ได้แม้จะมีนักเรียนเป็นจำนวนมากก็ตาม
- เสรีภาพ (Freedom) : ผู้เรียนจะเป็นใครอยู่ที่ไหน อายุเท่าไหร่ และมีพื้นฐานอะไรไม่สำคัญมีสิทธิเข้าเรียนได้เหมือนกันหมด โดยสามารถเลือกวิชาที่อยากเรียนได้ตามใจชอบ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวบังคับ (นอกจากจะเรียนเอาเกียรติบัตรและปริญญา) และเรียนตามความเร็วและเวลาที่ตัวเองสะดวก ในกรณีที่เป็นการเรียนแบบตามอัธยาศัย (self-pace) แต่ถ้าเป็นการเรียนแบบมีกำหนดเวลาก็ต้องทำตามเวลาที่เค้ากำหนด
เมื่อเข้าใจถึงหัวใจของ MOOC แล้วก็ลองมาหาคำตอบให้กับคำถามข้างต้นดู เรื่องเกี่ยวกับจำนวนนักเรียน ความจริงไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องรับได้กี่คนถึงจะเรียกว่า Massive ซึ่งอาจเริ่มตั้งแต่ 100 คนก็ได้ ถ้าระบบ MOOC นั้นทำเฉพาะเรื่องที่คนสนใจวงจำกัด แต่ในภาพรวม MOOC นั้นต้องสามารถรองรับผู้เรียนให้เรียนพร้อมๆ กันได้เป็นแสนๆ คน ลักษณะการเรียนก็มีทั้งแบบต้องเรียนตามกำหนดเวลา และแบบเรียนไปเรื่อยๆ ตามแต่ตัวเองสะดวกซึ่งแบบหลังก็จะไม่ใช่การสอนสด ส่วนการโต้ตอบมีส่วนร่วมนั้น จะมีการตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาในการเรียน และยังมีการบ้านให้ทำอีกด้วย ซึ่งผู้เรียนสามารถปรึกษากับเพื่อนนักเรียน อาจารย์และผู้ช่วยสอนได้ และบางครั้งก็มีการนัดติวและช่วยกันทำการบ้านโดยการเจอหน้าตากันจริงๆ โดยใช้ทูลในการนัดพบเช่น Meetup เป็นต้น ซึ่งถ้านักเรียนปฏิบัติตามขั้นตอนและสอบผ่านได้ตามเกณฑ์ก็จะถือว่าเรียนจบวิชานั้นโดยสมบูรณ์ ก็จะมีเกียรติบัตรอิเลคทรอนิคส์ (Badge) มอบให้ด้วย หรือบางวิชาของบาง MOOC ก็สามารถโอนเทียบเป็นหน่วยกิตจริงได้ในหลายมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคำตอบอันหลังสุดนี่แหละที่จะเป็นคำตอบของคำถามสำคัญที่ว่า ธุรกิจโมเดลคืออะไร? ความจริงก็คือมี MOOC บางวิชาที่มีการเก็บค่าเรียนจริงๆ และได้ประกาศนียบัตรจริงๆ (ซึ่งถูกกว่าไปเรียนที่มหาลัยเยอะ) และการเปิดโอกาสให้เทียบโอนหน่วยกิตได้ ซึ่งก็คือช่องทางการหานักเรียนเพิ่มขึ้นของสถาบันต่างๆ นั่นเอง และนอกจากการสอนโดยไม่คิดค่าเรียนที่ทำให้มหาวิทยาลัยที่มาร่วมสอนใน MOOC ได้หน้าตาแล้ว ในอนาคตคงจะมีการเรียนการสอนผ่าน MOOC ที่มีการเก็บค่าเรียนเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อแลกกับประกาศนียบัตรและปริญญาบัตรจริงๆ กันมากขึ้น ซึ่งตัวอย่างตอนนี้ก็มีการเปิดเรียนหลักสูตรปริญญาโท Online Master of Science in Computer Science ของมหาวิทยาลัย Georgia Institute of Technology ด้วยอัตราค่าเรียนประมาณ 7,000 เหรียญสหรัฐ ทาง MOOC ชื่อดังอย่าง Udacity
ผู้ให้บริการ MOOC (MOOC Provider) ยอดนิยม
เส้นทางความสัมพันธ์และเงินทุนของ 4 MOOC ยอดนิยม
Salman Khan อดีตนักวิเคราะเฮจด์ฟันด์ผู้ก่อตั้ง Khan Academy
KHAN ACADEMY (Khanacademy.org)
ก่อตั้งโดย Salman Khan ชาวอเมริกันเชื้อสายบังคลาเทศ-อินเดีย ซึ่งเปิดสอนหัวข้อในระดับมัธยมเป็นหลักและขยายไปหลากหลาย ซึ่ง Salman Khan มีอดีตเป็นนักวิเคราะห์ของบริษัทเฮจด์ฟันด์ และเคยเรียนจบทั้ง MIT และ Harvard Business School ซึ่งบังเอิญต้องมาช่วยสอนการบ้านหลานสาวทาง YouTube เมื่อคนดูแล้วชอบเลยได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิ Bill & Melinda Gates ถึง 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้เงินรางวัลสนับสนุนอีกหลายแหล่ง และตอนนี้มีวิชาให้เรียนกว่า 3,000 บทเรียนแล้ว และมีคนเช้ามาเรียนกว่า 70,000 คนทุกๆ วัน มีระบบติดตามประเมินการเรียน และมีการให้ Badge เป็นรางวัลรับรองความสำเร็จอีกด้วย ที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเรียนใดๆ ทั้งสิ้น
Daphne Koller โปรเฟสเซอร์ด้าน Computer Science จากมหาวิทยาลัย Stanford ผู้ร่วมก่อตั้ง Coursera
COURSERA (Coursera.org)
ความเป็นมา : เป็น MOOC ที่แสวงหากำไร ก่อตั้งโดย Andrew Ng และ Daphne Koller โปรเฟสเซอร์ด้าน Computer Science จากมหาวิทยาลัย Stanford โดยร่วมกับ 62 มหาวิทยาลัยและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมหาลัยชื่อดังอย่างเช่น Duke, California Institute of Technology, University of Illinois at Urbana-Champaign เป็นต้น ที่น่าสนใจก็คือตอนนี้มีมหาวิทยาลัยหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วมทั้งจากเอเชีย ยุโรป และอาหรับ ดังนั้นการเรียนจึงมีให้เลือกหลายภาษา ได้เงินทุนสนับสนุนจากเวนเจอร์แคปิตอลมาถึง 22 ล้านเหรียญสหรัฐในปีแรก โดยทดลองรูปแบบธุรกิจในการให้บริการบุคคลากรซึ่งเป็นนักเรียนของตนเองกับบริษัทต่างๆ
หลักสูตร : หลายร้อยวิชาจากเกือบร้อยมหาวิทยาลัยทั่วโลก มีวิชาหลากหลาย ตั้งแต่ computer science, math, business, humanities, social science, medicine, engineering, education
การประเมินผล : ใช้ซอฟต์แวร์ในการตรวจการบ้าน ข้อสอบประเภทปรนัย ส่วนอัตนัยจะใช้เพื่อน 5 คนช่วยกันตรวจ
ปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียน : ผ่านทางกลุ่มออนไลน์ฟอรัม และสามารถนัดพบกันได้ทาง meetup ซึ่งมีกลุ่นนักเรียนจัดนัดพบกันตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก
เวลาในการเรียน : บทเรียนส่วนมากมีวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดชัดเจน โดยสามารถย้อนกลับไปดูวีดิโอย้อนหลังได้ตลอด
สิ่งที่ผู้เรียนได้รับ : เกียรติบัตรซึ่งมีลายเซ็นของอาจารย์คนสอนแต่ไม่ใช่จากมหาวิทยาลัย และเริ่มมีบางวิชาสามารถเทียบโอนหน่วยกิตกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ทั่วสหรัฐอเมริกา
วิชายอดนิยมใน Udacity
UDACITY (Udacity.com)
ความเป็นมา : เป็น MOOC ที่แสวงหากำไรก่อตั้งโดย Sebastian Thrun ซึ่งเป็น VP ของ Google อาจารย์พาร์ทไทม์จากมหาวิทยาลัย Stanford ร่วมกับPeter Norvigโดยได้ติดต่อศาสตราจารย์เก่งๆ จากหลายมหาวิทยาลัยเข้ามาสอน ดังนั้นจึงเน้นขายชื่อผู้สอนมากกว่าชื่อมหาวิทยาลัย โดยเน้นวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เงินทุนสนับสนุนจากบริษัทเวนเจอร์แคปิตอลมา 21 ล้านเหรียญสหรัฐ
หลักสูตร : 28 วิชา ด้านธุรกิจ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์
การประเมินผล : ใช้ซอฟต์แวร์ในการตรวจการบ้าน ข้อสอบทั้งหมด
ปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียน : ผ่านทางกลุ่มออนไลน์ และสามารถนัดพบกันได้ตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก
เวลาในการเรียน : ผู้เรียนสามารถเริ่มเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ตามอัธยาศัย
สิ่งที่ผู้เรียนได้รับ : เกียรติบัตรแบ่งระดับความสามารถ 4 ระดับ มีบริการหางานด้านเทคโนโลยีกับบริษัทใหญ่ๆ ให้ และโอนหน่วยกิตได้ในบางวิชา
หน้าจอแสดงวิชาให้ค้นหาและเลือกเรียนของ edX
edX (edx.org)
ความเป็นมา : เป็น MOOC ที่ไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัย Harvard และ MIT โดยทั้งสองสถาบันได้ลงเงินทุนสนับสนุนให้ถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนี้วิชาเรียนยังมาจาก Hardvard, MIT, และ UC Berkeley เป็นหลัก แต่ตอนนี้มีวิชาเรียนจากอีก 9 มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วม และที่น่าสนใจคือกำลังจะมีมหาวิทยาลัยจากทางเอเชียหลายแห่ง เช่น ปักกิ่ง, โซล, ฮ่องกง, เกียวโต และบอมเบย์ เข้าร่วม
หลักสูตร : 68 กว่าวิชา จาก 12 มหาวิทยาลัย
การประเมินผล : ใช้ซอฟต์แวร์ในการตรวจการบ้านและ ข้อสอบทั้งหมด โดยการสอบบางวิชาจะต้องไปสอบที่ศูนย์สอบ
ปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียน : ยังมีน้อยเพราะเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ที่ผ่านมามีแค่วิชาเดียวที่มีการนัดพบกันในระดับภูมิภาค
เวลาในการเรียน : ส่วนมากจะมีวันเริ่มและวันสิ้นสุดที่แน่นอน และสามารถลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์หลังจากเริ่มสอน
สิ่งที่ผู้เรียนได้รับ : ได้รับเกียรติบัตร 2 ใบ ใบแรกรับรองว่าเรียนจบ อีกใบหนึ่งรับรองว่าสอบผ่าน โดยทั้งสองใบมีตราของ edX และตราของมหาวิทยาลัยต่อท้ายด้วย “X” เช่น HardvardX, MITX เป็นต้น
MOOC พันธุ์ไทย?
ความจริงประเทศไทยก็มีการให้บริการความรู้ทางออนไลน์มาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว อย่างเช่น เว็บไซต์ ไทยกู๊ดวิวดอทคอม(Thaigoodview.com) ที่เกิดจากหน่วยงานเอกชนและรัฐบาลร่วมมือกัน, วิชาการดอทคอม (vcharkarn.com) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท), ทรูปลูกปัญญา (trueplookpanya.com) ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด และถ้าเป็นระดับมหาวิทยาลัยทางโครงการ Thailand Cyber University (TCU : Thaicyberu.go.th) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาของรัฐ (สกอ.) ก็ได้นำเสนอบทเรียนออนไลน์เพื่อเรียนฟรีตามอัธยาศัย (self-pace) กว่า 600 รายวิชาแล้ว จากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมมือในโครงการนี้ และปัจจุบันทาง TCU ก็กำลังริเริ่มจะมีการเรียนการสอนในรูปแบบ MOOC มาตรฐาน เรียกว่า Thai-MOOC โดยมีมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ก่อตั้งคือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็หวังว่าเราจะได้เห็นบรรยากาศความตื่นตัวในการเรียนรู้ของคนไทยเพื่อเตรียมตัวต้อนรับสู่ AEC ในไม่ช้านี้
ปัญหาและความท้าทายของ MOOC
ปัญหาท้าทายมากที่สุดของ MOOC ก็คืออัตราการเลิกเรียนหรือเรียนไม่จบยังสูงมาก โดยครั้งหนึ่งได้มีการสำรวจพบว่ามีนักเรียนเข้าไปลงทะเบียนเรียนใน edX วิชา Circuits & Electronics จำนวนมากถึง 155,000 คน แต่มี 23,000 คนเท่านั้นที่ได้แต้มไปบ้าง (หมายถึงได้ลงมือทำแบบฝึกหัดอะไรไปบ้าง) แต่มีเพียง 9,300 คนที่ผ่านการสอบกลางภาค พอถึงก่อนสอบปลายภาคก็เหลือนักเรียนแค่ 8,200 คน ซึ่งจากจำนวนนี้มี 7,000 คนเท่านั้นที่ผ่านหลักสูตรโดยสมบูรณ์ และจากจากสำรวจเจาะลึกพบกว่า มีเพียงครึ่งหนึ่งจากผู้เรียนจบเท่านั้นที่มีอายุอยู่ในวัยเรียนมหาวิทยาลัยตามระบบ ที่สำคัญคือสองในสามของนักเรียนกลุ่มนี้ ยอมรับว่าเคยเรียนวิชาที่คล้ายกับวิชา Circuits & Electronics มาแล้ว แต่เกือบทุกคนบอกว่าการออกแบบหลักสูตรของ edX ดีกว่าที่เคยเรียน จะเห็นได้ว่า MOOC อาจเป็นช่องทางการเรียนเสริมที่ดีมากกว่าการเรียนที่จะเอาประกาศนียบัตร แต่ทำอย่างไรถึงจะให้ผู้เรียนตั้งใจเรียนจนจบในอัตราส่วนที่มากกว่านี้
โอกาสของคนทำอีเลิร์นนิง และครู/อาจารย์
จะเห็นได้ว่า MOOC มีโอกาสที่จะไม่ใช่แค่มา “ปรับโฉม” รูปแบบการศึกษาในโลกยุคดิจิตอลเท่านั้น แต่อาจถึงขั้น “ปฏิวัติ” การศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษากันเลยทีเดียว (แต่มหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิมก็ยังคงอยู่) ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสอย่างกว้างขวางสำหรับนักเรียนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้กับนักพัฒนาสื่อการเรียนการสอนแบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบการสอน (Instructional Designer), นักพัฒนาหลักสูตร (Courseware Engineer), นักออกแบบกราฟิก, นักถ่ายและตัดต่อวิดิโอ แม้กระทั่งครูอาจารย์ที่จะได้บทบาทเพิ่มเติมเป็นนักแสดง นักเล่าเรื่อง และนักเขียนบทอีกด้วย ซึ่งดูเหมือนงานจะมากขึ้น แต่ความจริงแล้วงานสอนจะมีความสร้างสรรค์และมีคุณภาพมากขึ้น แต่เหนื่อยที่ต้องพูดซ้ำๆ กันน้อยลงมากมาย นอกจากนี้ยังมีโอกาสทำรายได้มากขึ้นจากส่วนแบ่งของการสอนอีกด้วย ดังนั้นเราเริ่มมาเล่น(ใช้)MOOC กันเถอะ…
โดย ภาสกร ใหลสกุล (จากต้นฉบับนิตยสาร DMA)